อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การเรียนออนไลน์มีทั้งข้อดีและข้อจำจัด ข้อดีอย่างแรกคือ ลดช่องว่างระหว่างการเรียนออนไลน์ในประเทศไทยกับประเทศที่มีการศึกษาชั้นนำอย่างอเมริกา ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และประเทศในสหภาพยุโรปที่เคยมีความแตกต่างกันมาก หลังจากโควิด การศึกษาออนไลน์ของไทยเริ่มไล่ตามการศึกษาออนไลน์ในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว แถมยังส่งผลรวมไปถึงนอกวงการศึกษา ทั้งการทำงานที่บ้าน การประชุมออนไลน์ ทำให้ความรู้ด้านดิจิทัลของพลเมืองไทยถูกโควิดผลักดันขึ้นมา ถือเป็นการ fast forward ทำให้คนไทยได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ แบบฉับพลัน อย่างไรก็ตาม มีประเด็นถกเถียงกันว่าการเรียนออนไลน์นี้ยังมีข้อจำกัด เพราะการเรียนออนไลน์ต้องใช้สมาธิมากขึ้น และอาศัยความอดทนในการนั่งอยู่กับที่มากกว่าการเรียนในห้องเรียนแบบเดิม จึงเหมาะสมกับนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ไล่ลงมาถึงชั้นมัธยมและชั้นประถม ซึ่งพอจะค่อยๆ ฝึกฝนได้บ้าง แต่ถ้าเป็นนักเรียนในระดับชั้นอนุบาลนั้นดูไม่น่าจะเป็นไปได้เลย ในประเด็นนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมดนัก เพราะเคยเห็นผู้ปกครองหลายท่านที่มีลูกเล็ก ก็เปิด youtube ให้ดูกันแล้ว บางทีเด็กร้องไห้ ซน ดื้อ ก็เปิดสื่อออนไลน์ให้เด็กดูอยู่บ่อย ๆ เมื่อดูแล้วเด็กก็นิ่งสนิทเลย แสดงว่าโลกออนไลน์สำหรับเด็กก่อนอนุบาลก็มีกันแล้ว ศ.ดร.สุชัชวีร์จึงคิดว่าไม่ใช่ตัวเด็กที่มีความพร้อมหรือไม่พร้อม แต่จะการศึกษาออนไลน์สำหรับเล็ก คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองจำเป็นจะต้องอยู่ด้วย เพื่อร่วมสังเกตและปรับกิจกรรมให้เหมาะสม ไม่ใช่นั่งจ้องแต่หน้าจออย่างเดียว ต้องมีเวลาให้กับลูก (ความสำเร็จของเด็กก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่มาจากการเลี้ยงดูและให้เวลาจากครอบครัว)